วันที่ 30 มี.ค.64 น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 31 มี.ค.2564 เป็นวันสุดท้ายที่ผู้ได้สิทธิ์จากมาตรการคนละครึ่ง ทั้งเฟส 1 และ 2 กว่า 14.8 ล้านคน จะสามารถใช้จ่าย หลังจากนั้นแม้ว่าจะมีเงินเหลืออยู่ในระบบ ก็จะไม่สามารถใช้จ่ายได้อีก จึงขอให้ผู้ที่ยังใช้จ่ายไม่หมด
ใช้จ่ายภายในระยะเวลาที่กำหนดเพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์ ซึ่งจากข้อมูลขณะนี้มีผู้ใช้จ่ายครบวงเงิน 3,500 บาท แล้ว 7 ล้านคน และใช้จ่ายเกินกว่า 3,000 บาทแล้ว 13.47 ล้านคน
ทั้งนี้ จากการร่วมจ่าย (Co-Pay) ในมาตรการ ที่รัฐออกให้ครึ่งหนึ่ง และ ประชาออกเองครึ่งหนึ่ง ทำให้มีงบประมาณจากมาตรการเหลือ ประมาณ 2,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากจำนวนผู้รับสิทธิ์ไม่เต็ม 15 ล้านคน ตามกรอบของมาตราการที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) สะท้อนให้เห็นว่า มาตรการประสบความสำเร็จ เป็นการใช้เงินงบประมาณอย่างคุ้มค่า ในการช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย กำลังซื้อให้กับประชาชน
น.ส.กุลยา กล่าวว่า มาตรการคนละครึ่งในเฟส 1-2 มีการเตรียมงบประมาณร่วม 52,250 ล้านบาท ที่ผ่านมามีการใช้จ่าย โดยประชาชนร่วมจ่ายรวม 101,315 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดไว้เล็กน้อยที่ 1.05 แสนล้านบาท โดยคาดว่า เม็ดเงินดังกล่าว จะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจในปี 2564 ขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2563 โดยเฉลี่ย 2 ปี ที่ 0.4%
สำหรับผู้ที่ใช้จ่ายเงินในมาตรการไม่ทัน วงเงินที่เหลือจะไม่ถูกนำไปรวมกับมาตรการคนละครึ่ง เฟส 3 ที่คาดว่าจะเริ่มใช้ได้ในช่วงเดือนมิ.ย. หลังจากที่มาตรการเราชนะ ม.33 เรารักกัน สิ้นสุดในวันที่ 31 พ.ค.2564 ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการออกแบบมาตรการให้มีความเหมาะสม รวมทั้งป้องกันการทุจริต
การใช้จ่ายจากมาตรการ ให้รัดกุมมากขึ้น รวมทั้งมาตรการกระตุ้นให้ผู้ที่มีเงินออม นำมาใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะนี้ก็อยู่ระหว่างพิจารณาเช่นกัน
0 ความคิดเห็น