แน่นอนว่า ช่วงเทศกาลวันหยุดยาวปีใหม่ไทย ในปีฉลู 2564 นี้ สถานการณ์โดยรวมเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภาพรวม ดูดีขึ้นกว่าในช่วงเดียวกัน ของปีชวด 2563
ดูได้จากการที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ยืนยันว่า ยังไม่พบคลัสเตอร์ระบาด ระลอก 3 แม้ในเคสโรงพยาบาลสนามของสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) จะพบผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากก็ตาม
แต่ดูท่าทีปีนี้ น่าดีกว่าปีที่แล้ว ชัวร์! เมื่อ ศบค.โดย นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ประกาศไปว่า ศบค.มีการผ่อนคลายมาตรการ ตอนนี้ไม่มีจังหวัดไหนในประเทศไทย เป็นพื้นที่สีแดง (พื้นที่ควบคุม) อีกต่อไปแล้ว จังหวัดสุดท้ายคือสมุทรสาคร ตอนนี้ก็เหลือเพียง "สีส้ม เหลืองและสีเขียว" เท่านั้น
แต่อย่างไรก็ตาม ก็คงจะประมาทยังไม่ได้ ศบค.ยังเน้นย้ำให้พี่น้องประชาชน ต้องปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด "การ์ดต้องไม่ตก" อย่างที่เคยร่วมแรงร่วมใจกันปฏิบัติมา
งานนี้ มาเปรียบเทียบ และสำรวจมาตรการรัฐบาลที่ผ่อนคลายให้กับประชาชนในเทศกาลหยุดยาว 6 วัน สงกรานต์ กันว่ามีอะไรทำได้บ้าง และมีอะไรที่ทำไม่ได้
1. เทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2564 นี้ แน่นอนว่า ยังห้ามเล่น "สาดน้ำ-ประแป้ง-จัดคอนเสิร์ต-ปาร์ตี้โฟม" อย่างเด็ดขาด ในทุกกรณี (เหมือนปีที่แล้ว)
2. สำหรับ พิธีสรงน้ำพระ รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ ทางศาสนา การจัดพิธีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ดำเนินการได้ แต่ต้องปฏิบัติตามประกาศ ศบค.อย่างเคร่งครัด โดยหากผู้ร่วมกิจกรรมเกิน 300 คน ต้องยื่นแผนการจัดงาน และมาตรการควบคุมโรคต่อสำนักงานเขตพื้นที่ก่อนจัดงาน (คลายล็อกมากขึ้น)
- รดน้ำดำหัว ขอให้ยึดถือตามมาตรการ DMHT หลีกเลี่ยงจัดในที่แคบ หรือในพื้นที่ห้องปรับอากาศ จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วม ตามขนาดของสถานที่ 1 คน ต่อ 1 ตารางเมตร
- การรดน้ำ ให้เรียงแถวเข้ารดน้ำ แบบเว้นระยะห่าง ระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร และสวมหน้ากากอนามัยทุกคน หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่ม ร่วมกันเป็นเวลานานๆ
- จัดงานสงกรานต์ ขอให้ยึดถือตามมาตรการ DMHT จัดในพื้นที่โล่งแจ้ง อากาศระบายได้ดี และในพื้นที่ที่แสงแดดส่องถึง จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมตามขนาดของสถานที่ 1 คน ต่อ 1 ตารางเมตร งดการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก
3. หากจัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ โดยมีกิจกรรมเพิ่มเติม จากกิจกรรมพื้นฐาน เช่น การออกร้าน จัดเลี้ยง มีผู้ร่วมกิจกรรมเกิน 100 คน ต้องยื่นแผนการจัดงานและมาตรการควบคุมโรคต่อสำนักงานเขตพื้นที่ก่อนจัดงาน และต้องจัดในพื้นที่โล่งแจ้ง อากาศระบายได้ดี เลี่ยงจัดกิจกรรม พื้นที่คับแคบ หรือในพื้นที่ห้องปรับอากาศ และให้งดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก และอาจเกิดภาวะไร้ระเบียบ หรือกิจกรรมที่มีการสัมผัสใกล้ชิดกัน
4. หลีกเลี่ยงการจัดเลี้ยงสังสรรค์ ในกลุ่มที่มาจากหลากหลายพื้นที่ และควรงดการรับประทานอาหาร-เครื่องดื่ม ร่วมกัน เป็นเวลานาน
"ผู้ฝ่าฝืนอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
ทั้งนี้ รัฐบาลไม่ได้มีมาตรการจำกัดการเดินทางในช่วงสงกรานต์ แต่สนับสนุนให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวตามแบบชีวิตวิถีใหม่ หรือ new normal พร้อมอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อพบปะครอบครัว รดน้ำดำหัว ขอพรผู้ใหญ่ สืบสานประเพณีปีใหม่ไทย โดยหวังให้ช่วงสงกรานต์ปีนี้ ซึ่งมีวันหยุดยาวรวม 6 วัน เกิดการจับจ่ายใช้สอย เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ
เชื่อว่ามาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายที่กำลังดำเนินการอยู่ ไม่ว่าจะเป็น โครงการ "เราชนะ" คือ รัฐบาลสนับสนุนวงเงินช่วยเหลือค่าครองชีพ สูงสุด 7,000 บาท ระยะเวลาโครงการดำเนินการ ถึง 31 พ.ค. 2564 โดยโอนเงินให้ผู้ได้รับสิทธิ์ทุกสัปดาห์ละ 1 พันบาท
-โครงการ "ม.33 เรารักกัน" เชื่อว่า จะตอบโจทย์ประชาชนเป็นอย่างดี ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่กำลังจะมาถึงนี้ คือรัฐบาลสนับสนุนเงิน 4,000 บาท โดย จ่ายสัปดาห์ละ 1 พันบาท เริ่มมาตั้งแต่ 22 มี.ค.64
โครงการ "เราเที่ยวด้วยกัน" ที่กำหนด "อี-วอชเชอร์" ก่อนหน้านี้ที่ไว้ 900 บาท ในวันธรรมดา และ 600 บาทในวันหยุด แต่มีการปรับปรุงเงื่อนไข ในเฟส 3 เพิ่มอีก 2 ล้านสิทธิ์ คือ ปรับเป็นราคาเดียว 600 บาทต่อวัน
- สงกรานต์นี้ กทพ. ยกเว้นค่าผ่านทางช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ เส้นทางพิเศษบูรพาวิถี ช่วงบางนา-ชลบุรี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก ช่วงบางพลี-สุขสวัสดิ์ เริ่มตั้งแต่เวลา 00.01 น. วันที่ 9 เม.ย.64 จนถึงเวลา 24.00 น. ของวันที่ 16 เม.ย. เป็นเวลา 8 วัน
อย่าลืม! รัฐบาล ยังรณรงค์ให้แต่งกายด้วยชุดสุภาพ ใช้ผ้าไทย ผ้าท้องถิ่น หรือชุดไทยย้อนยุค เข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ ด้วย
เพื่อให้สงกรานต์ปี 2564 นี้ ประชาชน ปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด-19 และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ตามเป้าหมายรัฐบาล ทั้งหมดนี้ ภายใต้แนวคิด “สงกรานต์ วิถีใหม่ สืบสานวัฒนธรรมไทย”
ข้อมูล : ไทยรัฐ
0 ความคิดเห็น